in about
66. 10. 26
ฮิต: 151

หลักการและเหตุผล

   การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยฐานความเข้มแข็งของประเทศอันประกอบด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นเจ้าของสินค้าและบริการมูลค่าสูง ที่ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ นำเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลสมัยใหม่ที่ช่วยทลายข้อจำกัด ให้เกิดการก้าวกระโดดของการพัฒนาต่อยอด สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน กระจายรายได้ โอกาส และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง (Inclusive growth) รวมถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ตลอดจนรองรับผลกระทบจากพลวัตของกระบวนการโลกาภิวัตน์ การย้ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (Disruption) ที่ต้องการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จำเป็นอย่างยิ่งต้องอาศัยความรู้ และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่เหมาะสม เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ดังนั้นบทบาทสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นให้มหาวิทยาลัยเป็นฟันเฟืองสำคัญ เพื่อสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ท้าทายของประเทศ ผ่านการปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจ รวมทั้งจัดระบบและการบริหารจัดการ ทั้งนี้ Mindset ที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนจากการวิจัยและนวัตกรรมที่มาจากอุปทาน (Supply side) เน้นตอบโจทย์ผู้วิจัย เปลี่ยนข้างไปสู่การวิจัยและนวัตกรรมที่มาจากอุปสงค์ (Demand side) เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม
   การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาการเกษตรสร้างมูลค่าสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเผยแพร่และถ่ายทอดผลงานวิจัยเป็นภารกิจหนึ่งของงานบริหารผลงานวิจัยและนวัตกรรมการวิจัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านความเป็นเลิศด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการก้าวสู่ปีที่ 100 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปี พ.ศ. 2577 โดยมีเป้าหมายการพัฒนาสู่การเป็นนิเวศแห่งสังคมอุดมปัญญาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มอาชีพ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร จึงได้ดำเนินการจัดโครงการประชุมวิชาการ “นวัตกรรมเกษตร อาหาร และสุขภาพ” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ และผู้สนใจ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งนิสิต นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากเครือข่ายสถาบันการศึกษา และบุคลากรภาครัฐ องค์กรเอกชน ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์งานวิจัยในรูปแบบของการบรรยายและการสัมมนาผลงานวิจัยและบริการวิชาการ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการวิจัยและแก้ไขปัญหาได้อย่างสัมฤทธิ์ผล และสามารถทำงานวิจัยเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกันในการนำผลงานวิจัยต่อยอดขยายผลสร้างประโยชน์ต่อองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป อันจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างแท้จริง

วัตถุประสงค์

  1. ส่งเสริมให้บุคลากรทางการศึกษา วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร อาหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน มีโอ่กาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและ ประสบการณ์ทางวิชาการ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิจัย งานสร้งสรรค์และนวัตกรรมสู่สาธารณะ ในรูปแบบของการเสวนาวิชาการ และการนำเสนอบทความ
  2. ขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างสถาบันการศึกษา วิจัยและพัฒนาของหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน เพื่อต่อยอดขยายผล พัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะต่อไป
  3. สร้าง Platform แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ให้สร้างประโยชน์ที่เกิดผลลัพธ์และผลกระทบที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

หน่วยงานรับผิดชอบ

  1. สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  2. คณะ/สำนัก/วิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้
  3. มหาวิทยาลัยเครือข่ายเจ้าภาพร่วม

รูปแบบการประชุม

  1. ดำเนินการ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยแม่โจ้Build1
  2. การเสวนาวิชาการ
  3. การนำเสนอผลงานวิจัย ภาคบรรยาย โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่ม ดังนี้
            กลุ่มที่ 1 ความหลากหลายทางชีวภาพ
            กลุ่มที่ 2 เกษตรอัจฉริยะและเกษตรอินทรีย์
            กลุ่มที่ 3 การแปรรูปผลิตผลการเกษตรและนวัตกรรมอาหาร
            กลุ่มที่ 4 สิ่งแวดล้อม ฝุ่น หมอกควัน ขยะการเกษตร และความเป็นกลางทางคาร์บอน
            กลุ่มที่ 5 วิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์
            กลุ่มที่ 6 นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้าด้านการตลาดและธุรกิจการเกษตร
            กลุ่มที่ 7 นวัตกรรมพืชเศรษฐกิจใหม่เพื่อการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
            กลุ่มที่ 8 วิทยาศาสตร์สุขภาพ สุขภาวะที่ดี และการท่องเที่ยว

ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ

เริ่มต้น มิถุนายน 2567 และสิ้นสุดโครงการ มีนาคม 2568
โดยดำเนินการในระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2567

กลุ่มเป้าหมาย

จำนวน 180 คน ประกอบด้วย นักวิจัย อาจารย์ นักวิชาการ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย รวมทั้งนิสิต นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากเครือข่ายสถาบันการศึกษา และเครือข่ายภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรเอกชน

เงื่อนไขการนำเสนอ

การส่งผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ ผลงานออกแบบ ขอให้ผู้เสนอผลงานจัดเตรียมบทความฉบับเต็มให้ถูกต้องตามรูปแบบและข้อกำหนดที่คณะกรรมการกำหนดขึ้น มิฉะนั้น คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการยกเลิกผลงานที่มีรูปแบบไม่ถูกต้องตามที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. ผลงานที่จะนำเสนอ จะต้องเป็นผลงานที่เสร็จสิ้นแล้ว หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ หรือเป็นโครงการต่อเนื่อง และเป็นผลงานที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน
  2. บทความฉบับเต็ม 1 เรื่อง นำเสนอผลงานเป็นภาคบรรยาย
  3. คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ในการคัดเลือกรูปแบบของการนำเสนอผลงานตามความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ

รูปแบบการนำเสนอผลงาน

การนำเสนอแบบบรรยาย (Oral presentation)เวลาในการนำเสนอเรื่องละ 15 นาที (นำเสนอ 10 นาที ถาม–ตอบ 5 นาที)

หมายเหตุ
1.บทความระดับยอดเยี่ยมที่ผ่านการพิจารณาโดย Peer review ที่ได้รับคัดเลือก จะได้รับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร ในกลุ่ม TCI 1 จำนวน 5 เรื่อง ทั้งนี้ต้องผ่านเงื่อนไขที่กำหนดของกองบรรณาธิการ
2.บทความฉบับสมบูรณ์ที่ผู้นำเสนอได้ปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอของผู้ทรงคุณวุฒิ (Paper review) จะได้รับการตีพิมพ์เป็น Proceedings ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์

 

Top